ปัญหาความยากจน เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ทั้งยังไม่สามารถแก้ไขได้อย่างแท้จริง เพราะเป็นเรื่องที่มีความสลับซับซ้อน อีกทั้งความยากจนทำให้คนบางส่วนเข้าไม่ถึงรัฐสวัสดิการ หรือ บางคนกลายเป็นคนไร้ตัวตนในสังคม กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) และหน่วยงานบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) จึงเดินหน้าขับเคลื่อนดำเนินโครงการโมเดลแก้จน เพื่อให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น จึงเข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจน
อ.ดร.ทิพย์ทิวา สัมพันธมิตร อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ พร้อมด้วยคณะ กล่าวถึงที่มาและวัตถุประสงค์โครงการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ในจังหวัดพัทลุง ว่า ข้อมูลคนจนเป้าหมายในจังหวัดพัทลุง จาก TPMAP มีจำนวน 14,342 คน โดยใน 3 อำเภอ ที่มีคนจนเป้าหมายสูงสุด คือ อำเภอปากพะยูน 20.1%, เมืองพัทลุง 19.9% และควนขนุน 16.2% โดยโครงการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ในจังหวัดพัทลุง มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาระบบค้นหาและสอบทานเพื่อช่วยเหลือคนจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ (Personalize Poverty Alleviation) ร่วมกับ รวบรวมข้อมูลคนจนขนาดใหญ่ที่เชื่อมต่อกับระบบความช่วยเหลือภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมในจังหวัดพัทลุง อีกทั้งพัฒนาระบบข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อสำรวจและวิเคราะห์ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนจากการประกอบอาชีพและดำรงชีวิต รวมทั้งวิเคราะห์รูปแบบของปัญหาคนจนกลุ่มเป้าหมายและนำไปสู่การสร้างโมเดลความช่วยเหลืออย่างเบ็ดเสร็จ แม่นยำและยั่งยืน นอกจากนี้ ยังพัฒนาโมเดลการจัดการกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาอาชีพและเพิ่มทักษะการดำรงชีวิตเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนในคนจนกลุ่มเป้าหมายของจังหวัดพัทลุง และเพื่อสังเคราะห์ภาพรวมและจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อเชื่อมโยงกับแผนจังหวัดพัทลุง เพื่อนำเข้าสู่การขับเคลื่อนเป็นการพัฒนายุทธศาสตร์ของจังหวัดพัทลุง
สำหรับวิธีการดำเนินงานวิจัยนั้น ได้สร้างกลไกความร่วมมือเพื่อค้นหาสอบทานข้อมูล ใน 2 ด้าน คือ ด้านแรก สอบทานความสอดคล้องของข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ด้านที่สอง สอบทานมิติความยากจนของคนจนรายบุคคล และสำรวจทุนคนจนและครัวเรือนระดับพื้นที่ และ Verify กลุ่มเป้าหมายคนจนเป้าหมายจากฐานข้อมูล TPMAP โดยใช้กลไกการดำเนินการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับตำบลของจังหวัดพัทลุง โดยผ่านศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจังหวัดพัทลุง (ศจพ.จ.)
ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้ออกแบบกระบวนการสร้างกลไกความร่วมมือในระดับพื้นที่และระดับจังหวัด และมีการบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างหน่วยงานจังหวัดพัทลุง เพื่อขับเคลื่อนการทำงานแก้ไขปัญหาความยากจน นอกจากนี้ได้มีการสร้างกลไกค้นหา และสอบทานข้อมูลครอบครัวยากจนในระดับพื้นที่ โดยประสานความร่วมมือระหว่างผู้นำชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่
อ.ดร.ทิพย์ทิวา กล่าวต่อว่า หลังจากได้ข้อมูลจากการสำรวจ จะนำข้อมูลคนจนจากฐานข้อมูลขนาดใหญ่จังหวัดพัทลุง จากกระบวนผสานข้อมูล มาทำการวิเคราะห์ตามกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ การทำความสะอาดข้อมูล (Data Cleaning) การสำรวจข้อมูล (Data Exploration) การค้นหาความสัมพันธ์ของปัจจัยต่าง ๆ ของข้อมูล (Association Rule) การสร้างแบบจำลองการจำแนกประเภท (Classification Model) รวมถึงการจัดกลุ่มข้อมูล (Data Clustering) ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ คือ กลุ่มข้อมูลคนจนเป้าหมายที่ได้จากการจำแนกโดยระบบคอมพิวเตอร์ และคณะวิจัยจะทำการทานสอบ โดยใช้การสำรวจโดยกลไกการลงพื้นที่จริงอีกครั้ง พร้อมส่งต่อความช่วยเหลืออย่างไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเร่งด่วน
โดยระหว่างการดำเนินการนี้ ทีมนักวิจัยได้ส่งต่อความช่วยเหลือเรื่องที่อยู่อาศัย ให้แก่ 1) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) สำนักงานภาคใต้ ไปแล้วจำนวน 269 ครัวเรือน ครอบคลุม 27 ตำบลใน 9 อำเภอ 2) สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดพัทลุง ประกอบด้วย ครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่จำนวน 6,970 ครัวเรือน และครัวเรือนที่มีผู้ป่วยติดเตียงหรือพิการจำนวน 2,358 ครัวเรือน สำหรับผู้ป่วยติดเตียงหรือพิการส่งต่อข้อมูลความช่วยเหลือให้แก่ 3) ระบบกองทุนสวัสดิการชุมชนจังหวัดพัทลุง จำนวน 1,101 ครัวเรือน
ทั้งนี้ ในอนาคตจะปรับปรุงข้อมูลข้อมูลครัวเรือนที่มีฐานะยากจนให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ พร้อมส่งต่อข้อมูลที่ถูกต้องไปยังจังหวัด เพื่อกำหนดเป็นนโยบายให้กับผู้นำชุมชนในการวางแผนการช่วยเหลือครัวเรือนที่ยากจนอย่างตรงจุด