นักวิทย์น้อย แชมป์โครงงานระดับโลก Regeneron ISEF 2022 เผยเคล็ดลับสร้างชื่อให้ประเทศ ด้วย Active Learning

แชร์บทความ

Share on facebook
Share on twitter

นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาธิการ กพฐ.) ได้รับมอบหมายจากนายอัมพร พินะสา เลขาธิการ กพฐ. เป็นตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ให้การต้อนรับคณะนักเรียนไทย จำนวน 16 ทีม ที่เดินทางกลับจากการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ “Regeneron International Science and Engineering Fair 2022 (Regeneron ISEF 2022)” ณ เมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นการประกวดโครงงานของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยทีมนักเรียนไทยสามารถคว้ารางวัลได้มากถึง 10 รางวัล จากการแข่งขันครั้งนี้ ประกอบด้วย รางวัล Grand Awards 7 รางวัล รางวัลพิเศษ 1 รางวัล และรางวัล Special Awards 2 รางวัล นับเป็นจำนวนมากที่สุด เมื่อเทียบกับการแข่งขันในปีก่อน ๆ ที่ผ่านมา โดยบรรยากาศของการต้อนรับนักเรียนไทยทุกคน ทั้งผู้บริหาร ครู และผู้ปกครอง ต่างมีความชื่นชมยินดีในความสำเร็จครั้งนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ถึงแม้จะเผชิญกับสถานการณ์ของโรคโควิด-19 แต่ด้วยการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสม โดยเฉพาะการเรียนที่ลงมือปฏิบัติจริงแบบ Active Learning ทำให้นักเรียนไทยสามารถฝึกฝนทักษะความรู้ จนมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในเวทีระดับโลกได้

ถึงแม้จะต้องเผชิญกับสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่ด้วยการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสม นักเรียนไทยสามารถฝึกฝนทักษะความรู้จนมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในเวทีระดับโลกได้ เช่น โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา ทางโรงเรียนได้เข้าร่วมโครงการ Sandbox Safety Zone in School ในการพยายามเปิดเรียนแบบ On-Site ด้วยอุดมการณ์ที่เข้มแข็งทั้ง 9 ข้อ ที่เน้นทั้งด้านองค์ความรู้ ทักษะ กระบวนการ และคุณลักษณะของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย อีกทั้งยังมีเป้าหมายของหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยที่เข้มข้น โดยยึดตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560) และเน้นการเรียนการสอนที่ลงมือปฏิบัติจริงแบบ Active Learning ผ่านโครงงาน ผ่านงานวิจัย และจัดสถานการณ์ให้นักเรียนได้ออกแบบนำเสนอแนวคิดที่ได้จากการเรียนรู้ของตนเองอย่างต่อเนื่องในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา เมื่อรับนักเรียนเข้ามาหลังจากเรียนออนไลน์ ก็ได้มีการเติมความรู้เพื่อป้องกันภาวะถดถอยทางการเรียนรู้ (Learning Loss) ให้กับนักเรียนอย่างหลากหลาย ทั้งกิจกรรมการปรับพื้นฐานนักเรียนหลังจากการกลับมาเรียน On-Site คลินิกวิชาการ การสอนเสริม การศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเองจากสื่อการเรียนรู้ในห้องสมุดที่เปิดบริการถึงเวลา 20.00 น. การให้พื้นที่สร้างสรรค์ใน STEM Lab และการฝึกแล็บปฏิบัติการทั้งในและนอกเวลาเรียน

นอกจากนี้ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ปทุมธานี ยังมีจุดแข็งในด้านอื่น ๆ ที่ช่วยพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กได้อย่างหลากหลาย ประการแรก มีความเข้มแข็งทางด้านบุคลากร มีคุณครูที่มุ่งมั่นทุ่มเทในการพัฒนา ส่งเสริมนักเรียนให้ฝึกปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ การทำโครงงาน การช่วยเหลือสนับสนุนการศึกษาปัญหา เก็บรวบรวมข้อมูลร่วมกับเครือข่ายที่มีคุณภาพ อาทิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ธัญบุรี และเครือข่าย สวทช. จนโครงงานสำเร็จ ประการที่สอง ทางโรงเรียนมีหลักสูตรที่เข้มข้น มีกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่เน้น Active Learning และมีเครื่องมือที่พร้อมสามารถสนองตอบความต้องการของนักเรียนในการเรียนรู้และทำโครงงานได้ตลอดเวลา ประการที่สาม ผู้บริหารตั้งแต่ระดับนโยบาย จนถึงผู้บริหารโรงเรียน มีความเป็นผู้นำทางวิชาการ ยึดมั่นในอุดมการณ์ของโรงเรียน มีความเข้าใจและกำหนดเป้าหมายอย่างชัดเจน พร้อมสนับสนุน ส่งเสริมให้ครูจัดการเรียนรู้ที่สนองต่ออุดมการณ์ของโรงเรียนตามจุดเน้นที่สำคัญ ตามศักยภาพและความแตกต่างของนักเรียนแต่ละคน

ทั้งนี้ ทาง สพฐ. ได้กล่าวชื่นชมนักเรียนที่ใช้ความรู้ความสามารถในการทำโครงงานศึกษาวิจัยได้อย่างสร้างสรรค์ เหมาะสมกับสภาพบริบทในปัจจุบัน ส่งผลให้ได้รับรางวัลที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ และขอขอบคุณหน่วยงานที่สนับสนุนนักเรียนในการแข่งขันครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็น สวทช. อพวช. สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สำนักงานวิจัยแห่งชาติ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และที่ขาดไม่ได้ คือ ผู้บริหารโรงเรียน คณะครู สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และความร่วมมือจากผู้ปกครอง ที่ร่วมกันสร้างเครือข่ายในการจัดการเรียนรู้ให้กับนักเรียนได้อย่างเหมาะสม ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะการเรียนในรูปแบบ Active Learning ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560) ที่ให้ความสำคัญกับผู้เรียนเป็นหัวใจหลัก เมื่อเราได้นำมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับสภาพบริบทของนักเรียนแต่ละคนแล้ว เด็กก็จะสามารถเบ่งบานในแนวทางที่ตนเองถนัดและสนใจได้ จนนำไปสู่การสร้างชื่อเสียงให้กับตนเองและประเทศชาติในที่สุด

และในวันที่ 18 พฤษภาคม นี้ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รวมถึงผู้บริหารของ สวทช. อพวช. สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และ สพฐ. จะนำคณะนักเรียนไทยที่กลับจากการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์เวทีระดับโลก “Regeneron ISEF 2022” รวม 40 คน เข้าพบ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ณ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อรับโอวาทและแสดงความยินดีจากนายกรัฐมนตรีอีกด้วย

RANDOM

You cannot copy content of this page

error: Content is protected !!